วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

เสริมสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมในเด็กปฐมวัย

เสริมสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมในเด็กปฐมวัย


ตายแล้ว …. !!!
เสียงร้องอุทานของคุณแม่วัย 22 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับครอบครัวอื่น ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากประเด็นหัวข้อ “ลูกดื้อ ซน เอาแต่ใจ ทำอย่างไรดี?” เป็นความตกใจของคุณแม่ซึ่งคาดไม่ถึงกับวิธีการเลี้ยงดูลูก ที่เป็นการสร้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้แก่เด็ก โดยการปล่อยให้ลูกดูแผ่นซีดีตลกซ้ำ ๆ ที่มีคำด่าและคำพูดหยาบคาย ไม่เหมาะกับวัยของเด็ก รวมถึงการปล่อยให้ลูกเล่นเกมจากโทรศัพท์มือถือ จนทำให้เด็กติดเกม โดยคิดไม่ถึงว่าจะส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูก

กระบวนการเรียนรู้ในหัวข้อเรื่องดังกล่าว มาจากการสะท้อนปัญหาการเลี้ยงลูกของครอบครัวที่มีลูกอยู่ในวัย 2-4 ปี ซึ่งพบว่าเด็กมักจะมีพฤติกรรมที่ต่อต้าน ดื้อ ซน และเอาแต่ใจตนเอง เมื่อเด็กไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็จะมีการแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสีย จากที่ต้องยอมตามใจเพื่อตัดความรำคาญในครั้งแรก ก็มักจะมีครั้งที่สอง..สาม ตามมาโดยตลอด และถ้าเมื่อใดสิ่งที่เด็กเคยได้แล้วไม่ได้ พฤติกรรมการเรียกร้องก็จะถูกพัฒนาให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากยืนร้องไห้นิ่ง ๆ ก็จะกลายเป็นส่งเสียงร้องกรี๊ด กระทืบเท้า ด่าและตีพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งลงนอนดิ้นพราด ๆ ให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าผู้ใหญ่ไม่อดทนพอ ก็จะเกิดการปะทะอารมณ์กันขึ้น ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นความรุนแรงของพ่อแม่ที่ปฏิบัติต่อลูก ถ้าพ่อแม่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องพัฒนาการตามวัยของลูก ก็จะพบว่าการจัดการและรับมือกับพฤติกรรมของลูกไม่ใช่เรื่องยากเลย


พฤติกรรม ซน ดื้อ ก้าวร้าว ถือเป็นพัฒนาการปกติของเด็กช่วงปฐมวัย เพราะธรรมชาติของเด็กวัยนี้ เป็นวัยชอบสำรวจ อยากรู้อยากเห็น เด็กมีพัฒนาการเกี่ยวกับการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างรวดเร็ว รวมถึงพัฒนาการด้านสังคม มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เด็กอาจโมโหและอาละวาดได้ง่าย เพราะยังขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กบางคนมีพื้นอารมณ์ที่เลี้ยงยาก และปัญหาพฤติกรรมที่มีผลมาจากการเลี้ยงดู เช่น การทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแลเด็ก การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง การตามใจและยอมตามเด็กเสมอ การทะเลาะกันภายในครอบครัว การยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโกรธ การไม่ถูกฝึกระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน หรือเด็กทำผิดแล้วผู้ใหญ่ให้ท้าย รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงเรื่องความรุนแรง รวมถึงการใช้อาวุธต่าง ๆ ตลอดจนชุมชนที่มีการใช้ความก้าวร้าว รุนแรง ให้เด็กเห็นอยู่เสมอ

การจัดกิจกรรมสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัวในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กในการเสริมสร้างพัฒนาคุณลักษณะที่เหมาะสมแก่เด็กปฐมวัย ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 6 แห่ง ซึ่งได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งน้อย องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกสลุง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านคันนาหิน องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสานรัก 1 (บ้านท่างาม) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกเครือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอุ่มเม่า องค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งครอบครัวได้นำเสนอปัญหาเพื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และได้รับคำแนะนำวิธีจัดการปัญหาการเลี้ยงลูก ดังนี้

ปัญหาลูกดื้อ เอาแต่ใจตนเอง เจ้าอารมณ์ การเลี้ยงดูลูกของครอบครัวในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งอยู่ในช่วงปฐมวัย เกิดจากการที่พ่อแม่รู้สึกหนักใจและไม่สามารถจัดการพฤติกรรมของลูกที่เป็นเด็กซน ดื้อ เอาแต่ใจตนเอง เจ้าอารมณ์ ไม่เชื่อฟัง และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร เช่น เมื่อต้องการเรียกร้องหรืออยากได้ขนม หรือของเล่น ของใช้ ถ้าไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะอาละวาด ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ใช้วิธีจัดการลูกด้วยการตี เพื่อหยุดพฤติกรรม ซึ่งวิทยากรก็ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของเด็กว่า พ่อแม่ควรนิ่งเฉยขณะที่เด็กกำลังโกรธและอาละวาด จนเมื่อเด็กสงบลง จึงใช้การพูดคุยให้เหตุผล ใช้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ เป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ควรมีการสร้างสายสัมพันธ์ สร้างสายใยที่ดีกับลูกเพื่อเป็นวัคซีนใจให้กับเด็ก ๆ เมื่อเด็กโตขึ้นเกิดปัญหาที่เขาไม่สามารถหาทางแก้ไขเองได้ เด็กจะกล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ เพราะมีพ่อแม่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

ปัญหาการไม่เท่าทันต่อสื่อและเทคโนโลยี การเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากความไม่รู้ของผู้ปกครอง และมีผลให้เด็กเกิดการเลียนแบบ คือการปล่อยให้ลูกหลานอยู่กับสื่อโทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ มากเกินไป ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง ทำให้เด็กขาดทักษะทางสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเด็กในวัย 0-5 ปี เป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนา อยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ จึงไม่ควรให้เด็กอยู่กับสื่อมากเกินไป ควรมีข้อตกลงกับเด็กในการกำหนดระยะเวลาในการดูโทรทัศน์ หรือหากิจกรรมอื่นมาให้เด็กทำร่วมกับคนในครอบครัว เช่น ทำงานบ้าน หรืออ่านนิทานด้วยกัน

ปัญหาการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พูดจาไม่ไพเราะ และพูดคำหยาบ เวลาที่เด็กโกรธหรือไม่ได้ดั่งใจ ผู้ปกครองได้รับคำแนะนำในการแก้ไข โดยใช้การพูดคุยอธิบายถึงความไม่เหมาะสมให้เด็กได้รู้ ไม่ควรตำหนิดุว่าเด็ก เพราะคำบางคำเด็กไม่ได้รู้ความหมายแต่เป็นการจำจากคนอื่นแล้วนำมาใช้ เป็นการพูดเลียนแบบของเด็ก ถ้าหากเราตำหนิโดยไม่อธิบาย เด็กอาจจะไม่ใช้คำนั้นกับเราแต่อาจจะนำไปพูดกับคนอื่น

ปัญหาเด็กติดขวดนม ผ้าห่ม ได้มีการแนะนำให้ผู้ปกครองใช้การเข้าสังคมของเด็กเป็นตัวลดพฤติกรรมการติดสิ่งต่าง ๆ ให้ลดลง โดยให้เด็กได้เห็นแบบอย่างจากเพื่อนคนอื่น ๆ เช่น “ถามเด็กว่าไม่อายเพื่อนหรอ ถ้าเอาขวดนมไปโรงเรียน” ? ปัญหาเด็กไม่รู้จักการรอคอย ให้ใช้การอธิบายถึงเหตุผลถึงความจำเป็นที่ต้องรู้จักการรอคอย ซึ่งพ่อแม่ต้องฝึกการตอบสนองสิ่งต่าง ๆ ให้แก่ลูกช้าลง เพื่อให้เด็กรอคอยเป็น เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวันที่กำลังรับรู้ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยบอก ช่วยสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามวัย

ปัญหาการร้องขอเงินเพื่อซื้อขนมของเล่นตลอดเวลา ผู้ปกครองมักตอบสนองเด็กโดยการจ่ายเงินซื้อสิ่งของตามที่เด็กร้องขอ จนเป็นผลทำให้เด็กทานขนมมากจนเกินไป และไม่ยอมทานข้าว วิทยากรจึงให้แต่ละครอบครัวคิดค่าใช้จ่ายค่าขนมของลูกในหนึ่งวัน ทำให้ผู้ปกครองได้พบว่าได้ใช้จ่ายเงินเรื่องการซื้อขนมให้ลูกเป็นเงินจำนวนมาก จึงได้มีการเสนอให้ครอบครัวลองทำบัญชีครัวเรือนค่าใช้จ่ายเฉพาะของลูก เพื่อจะนำมาสู่การแก้ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายของลูก และพ่อแม่ควรสร้างเงื่อนไขและต่อรองลูกบ้าง ไม่ใช่ยอมทำตามที่ลูกต้องการทุกอย่าง


นอกจากคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมลูกแล้ว วิธีการเสริมแรงทางบวกแก่เด็กก็เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ผู้ปกครองควรให้รางวัลตอบแทนเป็นคำชม การกอดสัมผัส แทนการให้รางวัลเป็นสิ่งของ เพราะจะกลายเป็นการให้สินบนลูก การให้คำชมจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าและความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งคำพูดของพ่อแม่มีอิทธิพลต่อจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก คำพูดที่ควรให้เป็นรางวัลแก่เด็ก ได้แก่ “แม่เชื่อว่าลูกแม่ทำได้”...... “แม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะ”......“แม่รักลูกนะ” เป็นต้น
การฝึกลูกให้มีวินัย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกรู้จักควบคุมพฤติกรรมตนเอง ผู้ปกครองสามารถทำได้โดยฝึกให้ลูกเรียนรู้กฏ กติกา และวินัย โดยเริ่มจากการสร้างกฎ กติกา ภายในครอบครัวก่อน เพื่อต่อไปเด็กจะสามารถเรียนรู้กฎกติกาใหม่ ๆ ในโรงเรียน และสังคมได้ง่ายขึ้น อาจจะเริ่มฝึกจากการกำหนดเวลาในการนอน กำหนดค่าขนมในหนึ่งวัน เพื่อให้เด็กรู้จักการทำตามข้อตกลงร่วมกันของคนในครอบครัว ซึ่งต้องทำซ้ำ ๆ ทำอย่างสม่ำเสมอ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งครอบครัว ควบคู่ไปกับสอนการคิดเชิงเหตุผลให้กับเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้น จะทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีระเบียบวินัยในตนเอง และควบคุมตนเองได้



โครงการฯ ขอขอบคุณวิทยากร คุณศศกร วิชัย นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และ ทพ.ญ.ชัญญา ธีระโชติ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ คุณคณางค์ กงเพชร คุณลานนิพนธ์ เกษลา และคุณชวลิต กงเพชร ทีมวิทยากรจากโครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดกาฬสินธุ์


เรื่องและภาพ โครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชนบท มูลนิธิเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น